วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550

1.เครือข่ายการเรียนรู้และเทคโนโลยี(งานเดี่ยว)

......สังคมไทยปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการพัฒนาสมัยใหม่ ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือญาติและการแบ่งปันกันโดยตรงระหว่างคนไทยด้วยกันได้คลายพลังลงไปมาก สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือการพึ่งพาอาศัยกันในเชิงการแลกเปลี่ยนผ่านกลไกการจัดการ ความสัมพันธ์ใหม่นี้ได้ฉุดดึงญาติพี่น้องให้เข้ามาใกล้ชิดกันอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านและชุมชนจำนวนมากจึงสามารถรวมตัวกันเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกลไกทางสังคมที่มีพลังในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั้งมวลในปัจจุบัน
เครือข่ายในความหมายของความสัมพันธ์ใหม่มีบทบาทในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ประมวลจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายที่มีอยู่ในสังคมไทย มีการพูดถึงเครือข่ายในความหมายที่เหมือนและแตกต่างกันไป แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ดังนี้

......1.กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน จากการสรุปจากประสบการณ์การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน พบว่า
เครือข่ายชาวบ้าน หมายถึง การรวมตัวกันของบุคคลและ/หรือองค์กรที่มีกิจกรรมและเป้าหมายใกล้เคียงกัน มีชุดของปัญหาคล้ายคลึงกัน มีการพัฒนากิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ มีการประสานงานและพบปะกันอย่างต่อเนื่อง และมีการกำหนดกฎเกณฑ์ความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างบุคคลและ/หรือองค์กรที่เข้าร่วมในกิจกรรมของเครือข่าย บนพื้นฐานความเป็นอิสระของทุกองค์กรชุมชน และ เครือข่ายชาวบ้าน คือ รูปแบบความสัมพันธ์ของบุคคลและ/หรือชุมชน เพื่อการแก้ปัญหา เอาชนะข้อจำกัดและพัฒนาตนเอง เครือข่ายเป็นกระบวนการทางสังคมที่ประสานพลังของผู้นำชาวบ้านและองค์กรชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถทำได้โดยลำพังหมู่บ้านเดียว เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองในงานพัฒนาสังคม เครือข่ายของชาวบ้านและชุมชนที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยทั่วไปเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการพึ่งพาอาศัยและการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และพบว่าสิ่งที่สามารถพึ่งพาและแลกเปลี่ยนกันได้นั้น ประกอบด้วย (1) ความรู้และประสบการณ์ (2) ทรัพยากรธรรมชาติ (3) ผลผลิต และ (4) เงินทุน การรวมตัวเป็นเครือข่ายจึงเกิดได้ไม่ยากนัก และพบเห็นอยู่ทั่วไปในชนบท

......2.กลุ่มองค์กรรัฐและนักวิชาการ ให้ความหมายที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายไว้ดังนี้
เครือข่ายการเรียนรู้ คือ การที่ชาวบ้านรวมตัวกัน ขบคิดปัญหาของเขา รวมพลังแก้ปัญหา และหาผู้นำขึ้นมาจากหมู่ชาวบ้านด้วยกันเอง แล้วรวมตัวกันเพื่อมีอำนาจต่อรอง มีการต่อสู้ทางความคิด มีการเรียนรู้จากภายนอก มีการไปมาหาสู่กันเรียนรู้ดูงานด้วยกัน จนกระทั่งเกิดเป็นกระบวนการแก้ปัญหาได้ การทำมาหากินดีขึ้น เศรษฐกิจแต่ละครอบครัวดีขึ้น เครือข่ายการเรียนรู้ หมายถึงการประสานแหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติและการปฏิบัติงานอย่างสอดคล้อง เชื่อมโยงกันทั้งระหว่างงานที่รับผิดชอบ การจัดการศึกษาในและนอกระบบโรงเรียนและระหว่างหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับต่างๆ ตลอดจนระบบการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดและกระจายความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความต้องการของบุคคลและชุมชน เครือข่ายการเรียนรู้ หมายถึง ขอบเขตแห่งความสัมพันธ์ของกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีลักษณะประสาน ติดต่อสัมพันธ์ เชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือหลายกิจกรรม ระหว่างคนกับคน คนกับกลุ่ม และกลุ่มกับกลุ่ม"

......3.กลุ่มเครือข่ายเทคโนโลยี ซึ่งใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักในการสัมพันธ์และเชื่อมโยงคนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นเครือข่ายที่มีบทบาทสูงในภาคสังคมเมือง ธุรกิจ และสถาบันการศึกษา
นอกเหนือจากการให้ความหมายของเครือข่ายแล้ว การศึกษาที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับกระบวนการของเครือข่าย ไว้ดังนี้
........3.1 เวทีชาวบ้าน คือเงื่อนไขเริ่มต้นของเครือข่าย เวทีชาวบ้านจะเชื่อมโยงคนเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิด เครือข่ายการเรียนรู้ ที่ชาวบ้านไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนดูงานและเข้าไปมีบทบาทช่วยงานของหมู่บ้านอื่น ๆ มีการสื่อสารถึงกันตลอด มีการรวมกลุ่มผู้รู้เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้ และเป็นครูชาวบ้านให้กับหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ต้องการ เครือข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงมีธรรมชาติและพัฒนาการของตนเองแตกต่างกัน ตั้งแต่เป็น เครือข่ายการเรียนรู้ จนถึง องค์กรเครือข่าย ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าที่สุดของเครือข่ายที่เกิดขึ้น คือ มีการทำกิจกรรมและมีระบบการจัดการร่วมกันขึ้น และประสบการณ์การจัดการร่วมกันของหลายเครือข่าย นำไปสู่ข้อสรุปบางประการ เช่น
-บทบาทของเครือข่ายไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาโครงสร้างองค์กรที่แข็ง มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่เป็นการสร้างกระบวนการความร่วมมือระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งเริ่มต้นจาก การเรียนรู้ คือ การแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในประเด็น การจัดการ ซึ่งหมายถึง ระบบความสัมพันธ์ของคนและกิจกรรมเพื่อการพัฒนา ทรัพยากร ซึ่งครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติ โภคทรัพย์และเงินทุน เป็น 3 ประเด็นสำคัญของกระบวนการเครือข่าย
-การพัฒนาระบบการจัดการในระดับเครือข่ายจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับความเป็นอิสระขององค์กรชุมชน ให้รูปแบบวิธีการของแต่ละองค์กรชุมชนที่แตกต่างกันดำรงอยู่ เป็นความหลากหลายในทิศทางเดียวกัน
-กิจกรรมระดับเครือข่ายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากกระบวนการนี้ กิจกรรมเริ่มต้นจากความร่วมมือในวงเล็ก ๆ เพื่อสะสมประสบการณ์ แล้วค่อย ๆ พัฒนาระบบการจัดการเฉพาะกิจกรรมที่ชัดเจน และขยายแวดวงความร่วมมือให้กว้างออกไป

........3.2 ผลการศึกษาการเรียนรู้ที่ชาวบ้านและชุมชนเป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าของกระบวนการในทุกภาคของประเทศ พบว่า การเรียนรู้ดังกล่าวประกอบด้วยกระบวนการดังต่อไปนี้
-การวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาทั้งของตนเอง ชุมชน และเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้ากับสังคมไทยตลอดจนสังคมโลก
-การแสวงหาทางออกที่เหมาะสมกับตนเองและชุมชน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การประชุม สัมมนา การศึกษาดูงาน และการเรียนรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ
-การสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นผลจากการตัดสินใจของตนเองและชุมชน ในแง่ของชุมชนกิจกรรมที่ทำขึ้นนี้อาจเรียกว่า กิจกรรมเครือข่าย เพราะเป็นตัวชักจูงและเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน
การประเมินผลกิจกรรม และนำผลที่ได้ไปแก้ไขปรับปรุงกระบวนการ
ผลของกระบวนการเรียนรู้ที่มีต่อผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ พิจารณาได้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่า หรือทั้งหมด
ความหมายของเครือข่ายที่มีอยู่ในสังคมไทยจึงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ใหม่ที่มีบทบาท 2 ด้าน คือ ด้านการพัฒนา เป็นการร่วมมือกันของคนและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม และ ด้านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการสร้างเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ และความรู้ เป็นเครือข่ายในความหมายทางด้านสังคม และมีการพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเครื่องมือหลักในการจัดความสัมพันธ์และเชื่อมโยงคนและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในการเรียนรู้และการพัฒนา ซึ่งเป็นเครือข่ายในความหมายทางด้านเทคโนโลยี
และเมื่อการศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน การจัดการศึกษาโดยกระบวนการของเครือข่าย จึงเป็นแนวทางใหม่ของการจัดการศึกษาที่มีลักษณะสำคัญ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สรุปไว้ดังนี้
.....1.เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยในลักษณะที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชนต่าง ๆ
.....2.อาศัยองค์ความรู้เดิมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนา โดยมีการประยุกต์ใช้วิทยาการสมัยใหม่ด้วยความเหมาะสม
....3.มีองค์กรชุมชนเป็นหน่วยของการจัดการศึกษา โดยสมาชิกในชุมชนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ปัญหาของคนในชุมชนร่วมกัน
การจัดการศึกษาในลักษณะ “เครือข่ายการเรียนรู้” นี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์หาสาเหตุ และแนวทางแก้ไข ทดลองปฏิบัติและสรุปบทเรียนร่วมกัน กระบวนการดังกล่าวเมื่อนำมาใช้ในชีวิตจริงของคนในชุมชน จะช่วยให้คนเหล่านี้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการเรียนรู้จากปัญหาจริงและจะช่วยให้ชุมชนสามารถยกระดับการเรียนรู้ในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ให้สูงขึ้นได้ในระดับพัฒนาการของชุมชนปัจจุบัน การจัดการศึกษาในแนวทางเครือข่ายการเรียนรู้ ในความหมายที่เป็นเครือข่ายทางสังคมจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกว่าความหมายทางเทคโนโลยี

........ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศหมายถึง อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมประมวล เก็บรักษา และเผยแพร่ข้อมูลและสารสนเทศโดยรวมทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ฐานข้อมูล และการสื่อสาร โทรคมนาคม
ความหมายของข้อมูลและสารสนเทศ
...ระบบสารสนเทศสร้างขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายหลายประการจุดมุ่งหมายพื้นฐานประการหนึ่ง คือ การประมวลข้อมูล (Data) ให้เป็นสารสนเทศ (Information) และนำไปสู่ความรู้ (Knowledge) ที่ช่วยแก้ปัญหาในการดำเนินงาน ความหมายของข้อมูล
... ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ หรือข้อมูลดิบที่ยังไม่ผ่านการประมวลผล ยังไม่มีความหมายในการนำไปใช้งาน ข้อมูลอาจเป็นตัวเลข ตัวอักษร สัญลักษณ์ รูปภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว ความหมายของสารสนเทศ
.......สารสนเทศ คือ ข้อมูลที่ได้ผ่านการประมวลผลหรือจัดระบบแล้ว เพื่อให้มีความหมายและคุณค่าสำหรับผู้ใช้
ลักษณะสารสนเทศที่ดี
...1.เนื้อหา (Content)
...2.ความสมบูรณ์ครอบคลุม (completeness)
...3.ความสัมพันธ์กับเรื่อง (relevance)
...4.ความถูกต้อง (accuracy)
...5.ความเชื่อถือได้ (reliability)
...6.การตรวจสอบได้ (verifiability)
รูปแบบ (Format)
...1.ชัดเจน (clarity)
...2.ระดับรายละเอียด (level of detail)
...3.รูปแบบการนำเสนอ (presentation)
...4.สื่อการนำเสนอ (media)
...5.ความยืดหยุ่น (flexibility)
...6.ประหยัด (economy)
เวลา (Time)
...1.ความรวดเร็วและทันใช้ (timely)
...2.การปรับปรุงให้ทันสมัย (up-to-date)
...3.มีระยะเวลา (time period)
กระบวนการ (Process)
...1.ความสามารถในการเข้าถึง (accessibility)
...2.การมีส่วนร่วม (participation)
...3.การเชื่อมโยง (connectivity)
.......ความหมายของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information System)ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ คือ ระบบที่รวบรวม ประมวล เก็บรักษา และเผยแพร่สารสนเทศ เพื่อใช้ในหารวางแผน การพัฒนาตัดสินใจ ประสานงาน และควบคุมการดำเนินงาน
องค์ประกอบระบบสารสนเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการที่ใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-based information systems CBIS) มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ส่วนคือ ฮาร์ดแวร์ (hardware) ซอฟต์แวร์ (software) ฐานข้อมูล (database) เครือข่าย (network) กระบวนการ (procedure) และคน (people)ฮาร์ดแวร์ (Hardware) ได้แก่ อุปกรณ์ที่ช่วยในการป้อนข้อมูล ประมวลจัดเก็บ และผลิต เอาท์พุทออกมาในระบบสารสนเทศ ซอฟต์แวร์ (Software) ได้แก่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้ฮาร์ดแวร์ทำงาน ฐานข้อมูล (Database) คือ การจัดระบบของแฟ้มข้อมูล ซึ่งเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน เครือข่าย (Network) คือ การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเพื่อช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และช่วยการติดต่อสื่อสาร กระบวนการ (Procedure) ได้แก่ นโยบาย กลยุทธ์ วิธีการ และกฎระเบียบต่างๆ ในการใช้ระบบสารสนเทศ คน (People) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในระบบสารสนเทศ ซึ่งได้แก่ บุคคลที่เกี่ยวข้องในระบบสารสนเทศ เช่น ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนาระบบ ผู้ดูแลระบบ และผู้ใช้ระบบ
ประโยชน์ของระบบสารสนเทศ
ประสิทธิภาพ (Efficiency)
...ระบบสารสนเทศทำให้การปฏิบัติงานมีความรวดเร็วมากขึ้น โดยใช้กระบวนการประมวลผลข้อมูลซึ่งจะทำให้สามารถเก็บรวบรวม ประมวลผลและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยได้อย่างรวดเร็วระบบสารสนเทศช่วยในการจัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ หรือมีปริมาณมากและช่วยทำให้การเข้าถึงข้อมูล (access) เหล่านั้นมีความรวดเร็วด้วย
...ช่วยลดต้นทุน การที่ระบบสารสนเทศช่วยทำให้การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง กับข้อมูลซึ่งมีปริมาณมากมีความสลับซับซ้อนให้ดำเนินการได้โดยเร็ว หรือการช่วยให้เกิดการติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนการดำเนินการอย่างมาก
...ช่วยให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว การใช้เครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ทำให้มีการติดต่อได้ทั่วโลกภายในเวลาที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยกัน (machine to machine) หรือคนกับคน (human to human) หรือคนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ (human to machine) และการติดต่อสื่อสารดังกล่าวจะทำให้ข้อมูลที่เป็นทั้งข้อความ เสียง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวสามารถส่งได้ทันที
...ระบบสารสนเทศช่วยทำให้การประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดีโดยเฉพาะหาระบบสารสนเทศนั้นออกแบบเพื่อเอื้ออำนวยให้หน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกที่อยู่ในระบบของซัพพลายทั้งหมด จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ และทำให้การประสานงาน หรือการทำความเข้าใจเป็นไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น
ประสิทธิผล (Effectiveness)
...ระบบสารสนเทศช่วยในการตัดสินใจ ระบบสารสนเทศที่ออกแบบสำหรับผู้บริหาร เช่น ระบบสารสนเทศที่ช่วยในการสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision support systems) หรือระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร (Executive support systems) จะเอื้ออำนวยให้ผู้บริหารมีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น อันจะส่งผลให้การดำเนินงานสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ไว้ได้
...ระบบสารสนเทศช่วยในการเลือกผลิตสินค้า/ บริการที่เหมาะสมระบบสารสนเทศจะช่วยทำให้องค์การทราบถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน ราคาในตลาดรูปแบบของสินค้า/บริการที่มีอยู่ หรือช่วยทำให้หน่วยงานสามารถเลือกผลิตสินค้า/บริการที่มีความเหมาะสมกับความเชี่ยวชาญ หรือทรัพยากรที่มีอยู่
...ระบบสารสนเทศช่วยปรับปรุงคุณภาพของสินค้า/ บริการให้ดีขึ้นระบบสารสนเทศทำให้การติดต่อระหว่างหน่วยงานและลูกค้า สามารถทำได้โดยถูกต้องและรวดเร็วขึ้น ดังนั้นจึงช่วยให้หน่วยงานสามารถปรับปรุงคุณภาพของสินค้า/ บริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้นด้วย
...ความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage)
...คุณภาพชีวิตการทำงาน (Quality o f Working Life)

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ

...เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies: ICTs) ก็คือ เทคโนโลยีสองด้านหลัก ๆ ที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ และ เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่ผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในกระบวนการจัดหา จัดเก็บ สร้าง และเผยแพร่สารสนเทศในรูปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียง ภาพ ภาพเคลื่อนไหว ข้อความหรือตัวอักษร และตัวเลข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความถูกต้อง ความแม่นยำ และความรวดเร็วให้ทันต่อการนำไปใช้ประโยชน์
.....ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมี 5 ประการ (Souter 1999: 409) ได้แก่
...ประการแรก การสื่อสารถือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ สิ่งสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ประกอบด้วย Communications media, การสื่อสารโทรคมนาคม (Telecoms), และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)
...ประการที่สอง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลักที่มากไปกว่าโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ เช่น แฟกซ์, อินเทอร์เน็ต, อีเมล์ ทำให้สารสนเทศเผยแพร่หรือกระจายออกไปในที่ต่าง
...ประการที่สาม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีผลให้การใช้งานด้านต่าง ๆ มีราคาถูกลง
...ประการที่สี่ เครือข่ายสื่อสาร (Communication networks) ได้รับประโยชน์จากเครือข่ายภายนอก เนื่องจากจำนวนการใช้เครือข่าย จำนวนผู้เชื่อมต่อ และจำนวนผู้ที่มีศักยภาพในการเข้าเชื่อมต่อกับเครือข่ายนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น
...ประการที่ห้า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทำให้ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ และต้นทุนการใช้ ICT มีราคาถูกลงมาก
องค์ประกอบของเทคโนโลยีสารสนเทศ
.....ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นอาจกล่าวได้ว่าประกอบขึ้นจากเทคโนโลยีสองสาขาหลักคือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม สำหรับรายละเอียดพอสังเขปของแต่ละเทคโนโลยีมีดังต่อไปนี้คือ
...1. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจดจำข้อมูลต่าง ๆ และปฏิบัติตามคำสั่งที่บอก เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้ คอมพิวเตอร์นั้นประกอบด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ต่อเชื่อมกันเรียกว่า ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์นี้จะต้องทำงานร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกกันว่า ซอฟต์แวร์ (Software)


.........ฮาร์ดแวร์ ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ
....1.อุปกรณ์รับข้อมูล (Input) เช่น แผงแป้นอักขระ (Keyboard), เมาส์, เครื่องตรวจกวาดภาพ (Scanner), จอภาพสัมผัส (Touch Screen), ปากกาแสง (Light Pen), เครื่องอ่านบัตรแถบแม่เหล็ก (Magnetic Strip Reader), และเครื่องอ่านรหัสแท่ง (Bar Code Reader)
....2.อุปกรณ์ส่งข้อมูล (Output) เช่น จอภาพ (Monitor), เครื่องพิมพ์ (Printer), และเทอร์มินัล
.....หน่วยประมวลผลกลาง จะทำงานร่วมกับหน่วยความจำหลักในขณะคำนวณหรือประมวลผล โดยปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการดึงข้อมูลและคำสั่งที่เก็บไว้ไว้ในหน่วยความจำหลักมาประมวลผล
.....3.หน่วยความจำหลัก มีหน้าที่เก็บข้อมูลที่มาจากอุปกรณ์รับข้อมูลเพื่อใช้ในการคำนวณ และผลลัพธ์ของการคำนวณก่อนที่จะส่งไปยังอุปกรณ์ส่งข้อมูล รวมทั้งการเก็บคำสั่งขณะกำลังประมวลผล

....4.หน่วยประมวลผลกลาง จะทำงานร่วมกับหน่วยความจำหลักในขณะคำนวณหรือประมวลผล โดยปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการดึงข้อมูลและคำสั่งที่เก็บไว้ไว้ในหน่วยความจำหลักมาประมวลผล
....5.หน่วยความจำสำรอง ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลและโปรแกรมขณะยังไม่ได้ใช้งาน เพื่อการใช้ในอนาคต
.......ซอฟต์แวร์ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นมากในการควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
...ซอฟต์แวร์ระบบ มีหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในระบบคอมพิวเตอร์ และเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ระบบสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ คือ

....1. โปรแกรมระบบปฏิบัติการ ใช้ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พ่วงต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างโปรแกรมที่นิยมใช้กัน ในปัจจุบัน เช่น UNIX, DOS, Microsoft Windows
....2.โปรแกรมอรรถประโยชน์ ใช้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในระหว่างการประมวลผลข้อมูลหรือในระหว่างที่ใช้ เครื่องคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างโปรแกรมที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เช่น โปรแกรมเอดิเตอร์ (Editor)

....3.โปรแกรมแปลภาษา ใช้ในการแปลความหมายของคำสั่งที่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในรูปแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจ และทำงานตามที่ ผู้ใช้ต้องการ
ซอฟต์แวร์ประยุกต์ เป็นโปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อทำงานเฉพาะด้านตามความต้องการ ซึ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์นี้สามารถแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

...3.1ซอฟต์แวร์ประยุกต์เพื่องานทั่วไป เป็นซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานทั่วไปไม่เจาะจงประเภทของธุรกิจ ตัวอย่าง เช่น Word Processing, Spreadsheet, Database Management เป็นต้น
...3.2ซอฟต์แวร์ประยุกต์เฉพาะงาน เป็นซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในธุรกิจเฉพาะ ตามแต่วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้
...3.3ซอฟต์แวร์ประยุกต์อื่น ๆ เป็นซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นเพื่อความบันเทิง และอื่น ๆ นอกเหนือจากซอฟต์แวร์ประยุกต์สองชนิดข้างต้น ตัวอย่าง เช่น Hypertext, Personal Information Management และซอฟต์แวร์เกมต่าง ๆ เป็นต้น




แผนภาพแสดงกระบวนการจัดการระบบสารสนเทศ


2. เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม
เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ใช้ในการติดต่อสื่อสารรับ/ส่งข้อมูลจากที่ไกล ๆ เป็นการส่งของข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือที่อยู่ห่างไกลกัน ซึ่งจะช่วยให้การเผยแพร่ข้อมูลหรือสารสนเทศไปยังผู้ใช้ในแหล่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน และทันการณ์ ซึ่งรูปแบบของข้อมูลที่รับ/ส่งอาจเป็นตัวเลข (Numeric Data) ตัวอักษร (Text) ภาพ (Image) และเสียง (Voice)
เทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสารหรือเผยแพร่สารสนเทศ ได้แก่ เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบโทรคมนาคมทั้งชนิดมีสายและไร้สาย เช่น ระบบโทรศัพท์, โมเด็ม, แฟกซ์, โทรเลข, วิทยุกระจายเสียง, วิทยุโทรทัศน์ เคเบิ้ลใยแก้วนำแสง คลื่นไมโครเวฟ และดาวเทียม เป็นต้น สำหรับกลไกหลักของการสื่อสารโทรคมนาคมมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ส่วน ได้แก่ ต้นแหล่งของข้อความ (Source/Sender), สื่อกลางสำหรับการรับ/ส่งข้อความ (Medium), และส่วนรับข้อความ (Sink/Decoder) ดังแผนภาพต่อไปนี้ คือ
สำหรับกลไกหลักของการสื่อสารโทรคมนาคมมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ส่วน ได้แก่ ต้นแหล่งของข้อความ (Source/Sender), สื่อกลางสำหรับการรับ/ส่งข้อความ (Medium), และส่วนรับข้อความ (Sink/Decoder) ดังแผนภาพต่อไปนี้ คือ

แผนภาพแสดงกลไกหลักของการสื่อสารโทรคมนาคม


...นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถจำแนกตามลักษณะการใช้งานได้เป็น 6 รูปแบบ ดังนี้ต่อไปนี้ คือ
....1. เทคโนโลยีที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เช่น ดาวเทียมถ่ายภาพทางอากาศ, กล้องดิจิทัล, กล้องถ่ายวีดีทัศน์, เครื่องเอกซเรย์ ฯลฯ
....2. เทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล จะเป็นสื่อบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เช่น เทปแม่เหล็ก, จานแม่เหล็ก, จานแสงหรือจานเลเซอร์, บัตรเอทีเอ็ม ฯลฯ
....3. เทคโนโลยีที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูล ได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์
....4. เทคโนโลยีที่ใช้ในการแสดงผลข้อมูล เช่น เครื่องพิมพ์, จอภาพ, พลอตเตอร์ ฯลฯ
....5. เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดทำสำเนาเอกสาร เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร, เครื่องถ่ายไมโครฟิล์ม
....6. เทคโนโลยีสำหรับถ่ายทอดหรือสื่อสารข้อมูล ได้แก่ ระบบโทรคมนาคมต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์, วิทยุกระจายเสียง, โทรเลข, เทเล็กซ์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งระยะใกล้และไกล
...ลักษณะของข้อมูลหรือสารสนเทศที่ส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ดังนี้
ข้อมูลหรือสารสนเทศที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในระบบสื่อสาร เช่น ระบบโทรศัพท์ จะมีลักษณะของสัญญาณเป็นคลื่นแบบต่อเนื่องที่เราเรียกว่า "สัญญาณอนาลอก" แต่ในระบบคอมพิวเตอร์จะแตกต่างไป เพราะระบบคอมพิวเตอร์ใช้ระบบสัญญาณไฟฟ้าสูงต่ำสลับกัน เป็นสัญญาณที่ไม่ต่อเนื่อง เรียกว่า "สัญญาณดิจิตอล" ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจะส่งผ่านสายโทรศัพท์ เมื่อเราต้องการส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังเครื่องอื่น ๆ ผ่านระบบโทรศัพท์ ก็ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยแปลงสัญญาณเสมอ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "โมเด็ม" (Modem)

งานกลุ่ม(ข้อที่1)

ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ

....สามารถอธิบายความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ของผู้คนไว้หลายประการดังต่อไปนี้
......ประการที่หนึ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สังคมเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมสารสนเทศ
......ประการที่สอง เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจากระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกผูกพันกับทุกประเทศ ความเชื่อมโยงของเครือข่ายสารสนเทศทำให้เกิดสังคมโลกาภิวัฒน์
......ประการที่สาม เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้องค์กรมีลักษณะผูกพัน มีการบังคับบัญชาแบบแนวราบมากขึ้น หน่วยธุรกิจมีขนาดเล็กลง และเชื่อมโยงกันกับหน่วยธุรกิจอื่นเป็นเครือข่าย การดำเนินธุรกิจมีการแข่งขันกันในด้านความเร็ว โดยอาศัยการใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นตัวสนับสนุน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว
......ประการที่สี่ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีแบบสุนทรียสัมผัส และสามารถตอบสนองตามความต้องการการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ที่เลือกได้เอง
......ประการที่ห้า เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพทางการทำงานแบบทุกสถานที่และทุกเวลา
......ประการที่หก เทคโนโลยีสารสนเทศก่อให้เกิดการวางแผนการดำเนินการระยะยาวขึ้น อีกทั้งยังทำให้วิถีการตัดสินใจ หรือเลือกทางเลือกได้ละเอียดขึ้น

...กล่าวโดยสรุปแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทที่สำคัญในทุกวงการ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกด้านความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การเมือง ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาต่าง ๆ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้

...จากงานวิจัยของ Whittaker (1999: 23) พบว่า ปัจจัยของความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์การ มีสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่
......1. การขาดการวางแผนที่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนจัดการความเสี่ยงไม่ดีพอ ยิ่งองค์การมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าใด การจัดการความเสี่ยงย่อมจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านนี้เพิ่มสูงขึ้น
......2. การนำเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมมาใช้งาน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในองค์การจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจหรืองานที่องค์การดำเนินอยู่ หากเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่สอดรับกับความต้องการขององค์การแล้วจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
......3. การขาดการจัดการหรือสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง การที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้งานในองค์กร หากขาดซึ่งความสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงแล้วก็ถือว่าล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น การได้รับความมั่นใจจากผู้บริหารระดับสูงเป็นก้าวย่างที่สำคัญและจำเป็นที่จะทำให้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์การประสบความสำเร็จ
...สำหรับสาเหตุของความล้มเหลวอื่น ๆ ที่พบจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เช่น ใช้เวลาในการดำเนินการมากเกินไป (Schedule overruns), นำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยหรือยังไม่ผ่านการพิสูจน์มาใช้งาน (New or unproven technology), ประเมินแผนความต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ถูกต้อง, ผู้จัดจำหน่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (Vendor) ที่องค์การซื้อมาใช้งานไม่มีประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบ และระยะเวลาของการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จนเสร็จสมบูรณ์ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปี

......นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ไม่ประสบความสำเร็จในด้านผู้ใช้งานนั้น อาจสรุปได้ดังนี้ คือ
...1. ความกลัวการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ผู้คนกลัวที่จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งกลัวว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามาลดบทบาทและความสำคัญในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบของตนให้ลดน้อยลง จนทำให้ต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
...2. การไม่ติดตามข่าวสารความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก หากไม่มั่นติดตามอย่างสม่ำเสมอแล้วจะทำให้กลายเป็นคนล้าหลังและตกขอบ จนเกิดสภาวะชะงักงันในการเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
...3. โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศกระจายไม่ทั่วถึง ทำให้ขาดความเสมอภาคในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเกิดการใช้กระจุกตัวเพียงบางพื้นที่ ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้งานด้านต่าง ๆ ตามมา เช่น ระบบโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ฯลฯ

งานกลุ่ม(ข้อที่2)

...มีการเปลี่ยนแปลงเพราะมีการโมเดลเครือข่ายนนทรีเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เน้นให้เป็นทางด่วนข้อมูลสารสนเทศ information super highway เพื่อรองรับการศึกษาตามแนวคิดสมัยใหม่ รูปแบบการศึกษาที่วางโครงสร้างระบบประสมระหว่าง teacher centric กับ student centric เข้าด้วยกัน

การเชื่อมโยงโมเดลการสอนด้วยเครือข่ายนนทรี


...รูปแบบการสอนแบบ teacher centric เป็นการสอนโดยครูอยู่หน้าห้องเรียน ครูเป็นจุดศูนย์กลาง และนักเรียนนั่งเรียน การสอนระบบนี้ครูจะต้องถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งมีปัญหากับการที่นักเรียนกลุ่มใหญ่ และมีระดับความรู้ไม่เท่ากัน แต่จุดดีคือ ครูสามารถปรับรูปแบบการเรียนการสอนได้ตลอดเวลา

รูปแบบการสอนแบบ teacher centric


...รูปแบบการสอนแบบ student centric เป็นการเรียนการสอนโดยนักเรียนเป็นจุดศูนย์กลาง นักเรียนสามารถเรียนรู้ตามความสามารถ มีบทเรียนที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วย นักเรียนจะเรียนด้วยตนเอง ปรับสภาพแวดล้อมเข้ากับแต่ละบุคคลได้

เครือข่ายนนทรีกับการเชื่อมโยงโมเดล teacher centric และ Student centric เข้าด้วยกัน


...สภาพการใช้เครือข่าย ซึ่งเป็นเครือข่ายความเร็วสูงแบบมัลติมีเดีย ทำให้สภาพการเชื่อมโยงระหว่างนักเรียนและครูได้ดียิ่งขึ้น นักเรียนสามารถติดต่อกับครูหรือเรียนรู้จากบทเรียนและทรัพยากรที่มีอยู่ในเครือข่าย
...เครือข่ายนนทรีกับการเชื่อมโยงโมเดล teacher centric และ Student centric เข้าด้วยกัน เครือข่ายคอมพิวเตอร์ทำให้มีการสื่อสารแบบสองทาง ทำให้ครูใช้โมเดลได้ทั้งแบบครูเป็นจุดศูนย์กลาง และนักเรียนเรียนแบบนักเรียนเป็นจุดศูนย์กลางนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ตลอดยี่สิบสี่ ชั่วโมง ตามสภาพที่ตนเองต้องการ

รูปแบบการสอนแบบ student centric